Pages

Wednesday, July 15, 2020

"ประยุทธ์" เซตทีมกุนซือคุมเศรษฐกิจ สั่งการตรงไม่ผ่านรัฐมนตรี - ประชาชาติธุรกิจ

kuyupkali.blogspot.com

ตั้งศูนย์กู้วิกฤตเศรษฐกิจ “ศบศ.” อุดสุญญากาศปรับ ครม. “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะบัญชาการ ดึงภาคเอกชน-ที่ปรึกษาเป็นสตาฟกลั่นกรอง ดันเลขาฯสภาพัฒน์แม่งาน ปฏิบัติการเชิงรุกแก้ปัญหาทั้งระบบ รวบอำนาจบริหารจัดการ-สั่งการตรงทุกกระทรวงไม่ผ่าน รมต. ธปท.เผยจีดีพีถึงจุดต่ำสุด Q2 ไม่มีระบาดรอบ 2 เห็นการฟื้นตัวปี”65

วิกฤตเศรษฐกิจที่ยังลามไม่หยุดทำให้ภาคธุรกิจ สถานประกอบการได้รับผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดตัวแทนภาคเอกชนเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ (ศบศ.) ทำหน้าที่บริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจ โดยบูรณาการการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความเป็นเอกภาพ และให้สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์

ตั้งเลขาฯสภาพัฒน์แม่งาน

แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ศบศ. จะมีรูปแบบการบริหารและปฏิบัติการเช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. โดยในส่วนของโครงสร้างและองค์ประกอบคล้ายกับ ศบค. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ได้นั่งเป็นประธาน จึงไม่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขึ้นมารองรับอีกฉบับ แต่การทำงานจะกระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การบริหารงานมีส่วนที่คล้ายกันกับ ศบค. ในความหมายคือการสั่งการ ลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ภายใต้กลไกที่มีอยู่แล้ว ให้กระชับขึ้น สายการบังคับบัญชาสั้นขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นายกฯสั่งตรงไม่ผ่านรัฐมนตรี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นคณะทำงานแบบไม่เป็นทางการ (unofficial) ลักษณะของการทำงานร่วมกัน มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเลขาฯสภาพัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมแนวและวิธีการแก้ปัญหาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐมนตรี

ที่ปรึกษานายกฯมีอำนาจเต็ม

คณะทำงานชุดนี้เป็นคณะทำงานชุดเล็ก special task force ปฏิบัติการเชิงรุก มีองค์ประกอบในคณะทำงานไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ถ้าเรื่องใดเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเชิญแต่ละหน่วยงานมาให้ข้อมูลเป็นครั้งคราวได้

โดยจะมีการเรียกหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเข้ามาให้ข้อมูล และรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติได้ทันที เช่น อาจจะเชิญสภาอุตสาหกรรม, หอการค้าไทย, สมาคมธนาคารไทย เข้ามาเป็นครั้งคราว

แหล่งข่าวกล่าวถึงวิธีการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ว่า “คณะทำงานชุดนี้เป็นเหมือนสตาฟกลั่นกรองงานให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสามารถบัญชาได้ทันที พร้อมวิธีปฏิบัติ สั่งการผ่านกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำทันที ไม่ต้องไปศึกษาต่อ จึงคล้ายกับการทำงานของ ศบค.ที่รวมศูนย์สั่งการมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี”

“คณะกรรมการจะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ให้นายกรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านกลไกของระบบราชการ ไม่ใช่เฉพาะการรวบรวมประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรวบรวมปัญหาของประชาชนในวันนี้ เช่น ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจชาวบ้านด้วย”

ตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจรากหญ้า

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีรายหนึ่งกล่าวว่า คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทั้งในระบบและนอกระบบเห็นว่าปัญหาขณะนี้มีผลกระทบในวงกว้างกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะนี้เป็นเอฟเฟ็กต์กับประชาชนระดับรากหญ้า คนทำงาน คนทำมาหากิน ชาวบ้านทั่วไปอย่างกว้างขวาง

“ผลสะเทือนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีรายละเอียดมากกว่าปี 2540 ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอย่างเดียว แต่ต้องลงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย จึงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกฝ่ายเพื่อช่วยดูแลสังคม ขณะเดียวกันก็ดูแลเศรษฐกิจ ปากท้องเข้าไปด้วย”

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีรายนี้กล่าวถึงรายละเอียดว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเชิญองค์กรและผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจมาฟัง มารายงานข้อมูลเท่านั้น แต่หลังจากนี้จะไม่ใช่มาฟังอย่างเดียว แต่จะเริ่มนำข้อมูลที่ฟังมาประมวลเป็นภาคปฏิบัติ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายขั้นสุดท้าย เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบจึงให้สั่งการให้คนที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที

เน้นสั่งการตรงทำทันที

กรรมการชุดนี้ไม่ใช่เรื่องของการคิดนโยบายใหม่ แต่คิดวิธีการแก้ปัญหา เช่น ชาวบ้านขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำมาหากิน จะทำอย่างไรไม่ให้

เข้าสู่หนี้นอกระบบ เมื่อได้คำตอบแล้ว จะนำไปเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การสั่งการทางตรงให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการ หรือให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯไปทำทันที เรื่องใดที่เห็นว่าควรเข้า ครม.เศรษฐกิจ หรือ ครม.ชุดใหญ่ก็ให้เลขาธิการสภาพัฒน์เป็นแม่งาน เป็นเชิงปฏิบัติ ลงมือทันที ไม่ใช่แค่การพูดหารือกัน

แบงก์หวั่น ศบศ.แทรกแซง

ด้านแหล่งข่าวภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในที่ประชุมปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสนอนายกฯให้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ศบศ.ขึ้น โดยนายกฯมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ไปจัดทำรายละเอียดว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายอะไรมารองรับ ประเด็นสำคัญที่ยังมีบางส่วนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คือศูนย์จะมีขอบเขตการทำงานอย่างไร จะเข้าไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของเอกชนให้ไม่มีอิสระหรือไม่

“เหตุผลสำคัญที่มีผู้เสนอให้ตั้งศูนย์เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงมาก การแก้ไขมีอุปสรรคเพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น เอกชนเรียกร้องหลักเป็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ออกมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการปล่อยกู้ ผู้ประกอบการจึงยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ในส่วนของผู้ที่เห็นด้วยก็จะเป็นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี และตัวแทนนักธุรกิจสาย ปตท. รวมทั้งนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ แต่ทางกลุ่มแบงก์แสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะถ้าปล่อยกู้แล้วกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตามมา จะกระทบสภาพคล่องแบงก์”

ลือสะพัด “ทีมเศรษฐกิจใหม่”

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ภาคเอกชนยังกังวลเกี่ยวกับการทำงานในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล กรณีความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำรัฐบาล เพราะปลายสัปดาห์ก่อนแม้รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้าร่วมประชุมด้วย แต่บรรยากาศแตกต่างไปจากเดิม มีความเย็นชานิด ๆ จึงห่วงว่าการทำงาน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะเหมือนเดิมหรือไม่ แต่หากปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจก็ต้องเป็นบุคคลที่เอกชนยอมรับ

“มีการพูดถึงนักธุรกิจหรือผู้ที่มีประสบการณ์สูงและได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับการยอมรับทั้งภาครัฐและเอกชน นายปรีดี ดาวฉาย นอกจากนี้มีชื่อนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รวมอยู่ด้วย”

ย้ำไม่ต่ออายุช่วยลูกหนี้รายย่อย

ขณะที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะครบกำหนดเดือน มิ.ย.นี้ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงินไม่เกิน 100 ล้าน ที่ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน จะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้ ธปท.จะไม่ต่ออายุมาตรการเป็นการทั่วไป มองว่าลูกหนี้บางกลุ่มยังมีความสามารถชำระหนี้ได้ หากออกมาตรการขั้นต่ำเป็นการทั่วไป จะมีผลข้างเคียงและกระทบวินัยทางเครดิต

ขณะที่มาตรการที่ ธปท.ออกมาในเรื่องของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ใช้วงเงินซอฟต์โลนแล้ว 1.03 แสนล้านบาท แม้ห่างไกลเป้าหมาย แต่ภายใต้ พ.ร.ก.สามารถขยายระยะเวลาหรือต่ออายุมาตรการได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน และอยู่ระหว่างศึกษาตามข้อเสนอของธนาคารพาณิชย์ที่เสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันหรือมีบทบาทในการรับความเสี่ยงเพิ่มเติมหลังจาก 2 ปี

เศรษฐกิจดิ่ง-ปี”64 GDP โต 5%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2563 ว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจหลัง ธปท.ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค. จาก -5.3% มาสู่ระดับ -8.1% ในเดือน มิ.ย. จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เศรษฐกิจโลกที่เดิมขยายตัวอ่อน ๆ แต่ปัจจุบันถดถอยรุนแรง ส่งผลต่อการส่งออกของไทย 2.การระบาดของโควิด-19 กระทบการบริโภค นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป เดิม มี.ค.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 15 ล้านคน แต่คาดว่าจะเหลือ 8 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแล้ว 7.6 ล้านคน เหลืออีก 1.3 ล้านคน ซึ่งหวังว่าจะมาจาก Travel Bubble ในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องถึงปี 2564 3.มาตรการการเงิน-การคลังของภาครัฐที่ออกมามีขนาดใหญ่พอสมควร แต่ช็อกที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่ไม่สามารถชดเชยได้ จึงปรับประมาณการ โดยปี 2564 จะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ 5%

เข้าสู่ภาวะปกติปี”65

อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ต้องจับตาใกล้ชิด ตัวเลขเดือน พ.ค.ว่างงานกว่า 3 แสนคน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเร็วและค่อนข้างชัน โดยเฉพาะภาคบริการและภาคผลิตที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน ส่งผลให้เด็กจบใหม่ปีนี้จะเข้าตลาดแรงงานยาก ต้องมีการพัฒนาทักษะ

“เศรษฐกิจดิ่งลึกในไตรมาสที่ 2 และเป็นจุดต่ำสุด และจะเห็นการฟื้นตัวตามลำดับตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์มาสู่เฟส 5 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในช่วงก่อนเกิดโควิดได้ภายในปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขที่มีวัคซีน หากไม่มีการระบาดรอบ 2 หรือเกิดการล็อกดาวน์ขนาดใหญ่อีกครั้ง”

ชี้ดอกเบี้ย 0% เกิดยาก

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะลดลงอยู่ที่ 0% นั้น มองว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะหากดูการส่งผ่านนโยบายการเงินภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง และให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะเห็นว่าธนาคารส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งกระดาน อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ศึกษาว่าดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากจะมีผลต่อเศรษฐกิจ การออม และการลงทุน เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานจะมีผลต่อระดับศักยภาพการเติบโต รวมถึงนโยบายรักษาอัตราผลตอบแทนให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งนั้น (yield curve control) ตอนนี้ศึกษาอยู่ เป็นการเตรียมเครื่องมือให้พร้อม

Let's block ads! (Why?)



"เศรษฐกิจ" - Google News
July 16, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/3fxkwnn

"ประยุทธ์" เซตทีมกุนซือคุมเศรษฐกิจ สั่งการตรงไม่ผ่านรัฐมนตรี - ประชาชาติธุรกิจ
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL

No comments:

Post a Comment