Pages

Monday, August 31, 2020

แผลเป็นเศรษฐกิจจากโควิด-19 - ไทยรัฐ

kuyupkali.blogspot.com

จากตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2/2020 ที่ประกาศออกมาเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ย้ำว่า ผลกระทบของ COVID-19 มีความรุนแรงและกระจายไปทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2020 หดตัวถึง -12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี

ภาคเศรษฐกิจที่หดตัวมากที่สุดคือภาคการส่งออกบริการ หรือภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศนั่นเอง ที่หดตัวถึง -70.4% เนื่องจากประเทศไทย รวมถึงประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว ต่างมีมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย (หรือหดตัวถึง -100% YOY)

โดยในไตรมาสที่สอง มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐ (ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐ) ที่ยังขยายตัวได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นเครื่องจักรที่ยังทำงานได้ ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพื่อลดผลกระทบ COVID-19 (ภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท) และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2020 ที่ดีขึ้น

มาตรการลดผลกระทบหลักบางมาตรการกำลังจะหมดอายุลง หากมาตรการไม่ได้รับการต่ออายุหรือต่ออายุแต่ทำในขนาดที่เล็กเกินไป อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ทั้งนี้ มาตรการลดผลกระทบ COVID-19 แม้จะเป็นมาตรการขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นมาตรการชั่วคราว

เช่น มาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 (เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/เดือน วงเงินงบประมาณรวม 2.25 แสนล้านบาท) ซึ่งหมดอายุลงในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 นอกจากนั้น ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา (เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/เดือน วงเงินงบประมาณรวม 1.16 แสนล้านบาท) ที่หมดอายุลงในช่วงต้นไตรมาส 3

จากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ที่ได้มีการกล่าวถึงข้างต้นจะพบว่า การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องจักรเดียวที่ยังขยายตัวได้ แต่การหมดอายุของมาตรการขนาดใหญ่เหล่านี้ ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบช้าๆ หรือรายได้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไม่กลับมา อาจนำไปสู่ภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า หน้าผาทางนโยบาย (Policy Cliff) ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการฟื้นตัวในระยะถัดไป

ผลกระทบในบางมิติอาจสร้างแผลเป็นให้เศรษฐกิจไทยหากไม่ได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นว่า ผลกระทบของ COVID-19 เปรียบเสมือนแผลที่ลึกและมีขนาดใหญ่ หลังจากที่ได้มีการทยอยเปิดเมืองและออกมาตรการขนาดใหญ่เพื่อลดผลกระทบ แผลบางส่วนได้รับการเยียวยาและหายได้เร็ว

แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่หายเพราะเป็นแผลลึก และการฟื้นตัวที่ช้าของเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่อาจต้องใช้เวลานานในการกลับมา (เช่นภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอาจต้องรอจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนและมีการใช้อย่างแพร่หลาย) ซึ่งกว่าจะมีการฟื้นตัวของภาคธุรกิจเหล่านี้ แผลลึกอาจกลายเป็นแผลเป็น (หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกว่า scarring effects)

โดย SCB EIC ประเมินว่าตัวเลขด้านเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงแผลเป็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ควรติดตามมี 2 ตัวเลขด้วยกันคือ 1. อัตราการว่างงาน และ 2. จำนวนของธุรกิจที่ปิดกิจการ โดยทั้งสองตัวเลข นอกจากจะบอกถึงสภาวะการจ้างงาน และสภาวะภาพรวมธุรกิจแล้ว ยังบอกได้ถึงแนวโน้มของรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศอีกด้วย

ล่าสุด จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2/2020 เร่งตัวสูงขึ้นเป็นเกือบ 2% (จาก 1% ในไตรมาส 1/2020) ซึ่งนับเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2009

นอกจากนั้น จำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานยังลดลงอย่างมาก (จากการทำงานต่ำระดับ (underemployment) และการเปลี่ยนสถานะการทำงานจากทำงาน full-time มาเป็น part-time)

ในขณะที่ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็รายงานว่า จำนวนธุรกิจที่มีการปิดกิจการในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 8.3% โดยในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นถึง 55.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ในขณะที่จำนวนธุรกิจใหม่ที่เปิดกิจการลดลงถึง -12.8% ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2020)

การช่วยเหลือของภาครัฐอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง จะทำให้โอกาสที่จะเป็นแผลเป็นน้อยลง หรือเป็นแผลเป็นที่มีขนาดเล็กลง แน่นอนว่า ด้วยข้อจำกัดทางด้านการคลัง ที่มาตรการต่างๆ จะนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุด จากการรายงานของกระทรวงการคลัง หนี้สาธารณะของบ้านเราเพิ่มขึ้นจาก 41.2% ณ สิ้นปี 2019 เป็น 45.8% ของ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2020 หรือ ราวๆ 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างรวดเร็ว นั่นจึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้รัฐบาลอาจจะไม่สามารถต่ออายุมาตรการขนาดใหญ่ทั้งหมดออกไปได้เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มของสถานการณ์การระบาด COVID-19 มีแนวโน้มยืดเยื้อ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ก็น่าจะยืดเยื้อเช่นกัน

ภาครัฐอาจต้องยอมที่จะมีการเพิ่มขึ้นของการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะเป็นการชั่วคราว เพื่อจัดทำมาตรการลดผลกระทบที่ตรงจุดและต่อเนื่อง การจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเรียงลำดับตามความจำเป็น น่าจะมีส่วนช่วยให้แผลลึกที่เกิดขึ้นกับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนานรวมถึงแรงงานที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจเหล่านั้นไม่กลายเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจไทยได้

โดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ
ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.co.th

Let's block ads! (Why?)



"เศรษฐกิจ" - Google News
August 31, 2020 at 04:05PM
https://ift.tt/3gMvgxM

แผลเป็นเศรษฐกิจจากโควิด-19 - ไทยรัฐ
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL

No comments:

Post a Comment