ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน กำลังกลายเป็นที่กังวลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ติดลบ 3.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการติดลบตํ่าสุดในรอบกว่า 10 ปี
เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดของเงินเฟ้อที่ติดลบอย่างหนัก ตามถ้อยแถลงของกระทรวงพาณิชย์มีสาเหตุสำคัญจากราคานํ้ามันที่ยังอยู่ในระดับตํ่า แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังตํ่ากว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่านํ้าประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ
นอกจากนั้นฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสดในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงตํ่าสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวด อื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.01
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. ที่ติด ลบตํ่าสุดในรอบกว่า 10 ปี ยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. อิงนิยามภาวะเงินฝืดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้
1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period)
2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปกติดูที่ระยะ 5 ปี) ตํ่ากว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย และ
4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น
ธปท.ยํ้าว่าหากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยติดลบมาเพียง 3 เดือน แม้ประมาณการล่าสุดของ ธปท. จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ยังมองว่าปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้ อีกทั้งเป็นการติดลบจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ
ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1-3% ต่อปี จึงยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ดีธปท.ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
“ภาวะเงินฝืด” เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดตํ่าลงเรื่อยๆ เป็นระยะเวลาปานกลางถึงยาวนาน อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของอุปสงค์หรือกำลังซื้อในประเทศ ทำให้ผู้ขายต้องยอมลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้สามารถขายสินค้า รวมทั้งลดการผลิตสินค้าลง เพราะว่าถ้าผลิตเท่าเดิมก็จะขายได้น้อย เมื่อผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการจ้างงานการลงทุนภาคเอกชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม
หากดูจากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (deflation risk) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มตํ่ากว่ากรอบเป้าหมาย โดยมีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่ประเมินไว้จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามแนวโน้มราคานํ้ามันที่ลดลงมากและมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐ รวมทั้งราคาในหมวดอาหารสดปรับลดลงตามอุปสงค์ในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด
อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหมวดอื่นส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับตํ่าต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและผลของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงด้านตํ่า สอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจและราคานํ้ามันดิบ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเป็นผลชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (deflation risk)
คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,581 หน้า 10 วันที่ 7 - 10 มิถุนายน 2563
"เศรษฐกิจ" - Google News
June 07, 2020 at 07:00AM
https://ift.tt/2UhqvEc
ไขปมเศรษฐกิจ เข้าสู่ภาวะเงินฝืด? - ฐานเศรษฐกิจ
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL
No comments:
Post a Comment