17 กรกฎาคม 2563
272
เศรษฐกิจจีนได้รับการจับตาใกล้ชิดในฐานะมาตรวัดเศรษฐกิโลก ข้อมูลล่าสุดจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว 3.2% เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ แถมยังฟื้นจากหดตัวในไตรมาสแรกกลับมาอยู่ในแดนบวก
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) แถลงวานนี้ (16 ก.ค.) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 3.2% ในเดือน เม.ย.-มิ.ย.เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่ประเมินว่า จีดีพีจะเติบโตปานกลาง 2.5% ทั้งยังปรับตัวดีขึ้นมากจากไตรมาส 1 ที่จีดีพีจีนหดตัว 6.8%
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การที่จีดีพีไตรมาส 1 หดตัวลงถึง 6.8% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2535 ที่เริ่มเก็บข้อมูลรายไตรมาสเป็นอย่างน้อย
สำหรับไตรมาส 2 แม้ตัวเลขจะดีดกลับขึ้นมามาก แต่มีสัญญาณว่า การฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาสักระยะ ดูจากยอดค้าปลีก มาตรวัดสำคัญบ่งบอกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้มาก เดือน มิ.ย.หดตัว 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังคงลังเลเรื่องการออกไปจับจ่ายซื้อของ แม้ดูเหมือนว่าทางการจะควบคุมไวรัสได้แล้ว
“ไม่สำคัญหรอกว่าคุณออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการคลังออกมาล่อผู้บริโภคมากแค่ไหน พวกเขาไม่มีวันออกจากอพาร์ตเมนต์ไปลุยช้อปจนกว่าจะมั่นใจว่าบ้านเมืองปลอดไวรัสแล้ว” สตีเฟน อินนส์ นักกลยุทธ์จากบริษัทแอกซีคอร์ปให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ปัจจุบันภาคค้าปลีกทวีความสำคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจจีน เป็นผู้นำการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากกว่าการค้าและการลงทุน ยิ่งความต้องการจากภายนอกซบเซา จีนยิ่งต้องการให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่อินส์ตั้งข้อสังเกตว่า การปรับอุปทานให้เป็นปกติง่ายกว่าปรับอุปสงค์
ด้านหลุยส์ คุจส์ จากออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิก กล่าวเสริมว่า การบริโภคภาคครัวเรือนยังคงอ่อนแอที่สุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหลาย แม้เศรษฐกิจจีนน่าจะเข้าสู่ขาขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง
นักเศรษฐศาสตร์เตือนถึงความไม่แน่นอนสูงที่รออยู่ข้างหน้าผลจากการฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานฟื้นตัว แต่การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ของภาคเอกชนและยอดค้าปลีกยังคงซบเซา ส่วนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอยเพราะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ส่วนภาพรวม 6 เดือนแรกเศรษฐกิจจีนหดตัว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการว่างงานในเมืองลดลงจาก 5.9% ในเดือน พ.ค. เหลือ 5.7% ในเดือน มิ.ย.
การว่างงานเป็นสัญญาณที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปีนี้จะมีบัณฑิตจบใหม่เกือบ 9 ล้านคน เข้าสู่ตลาดแรงงานที่ยังหาความแน่นอนไม่ได้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า อัตราว่างงานจริงมีแนวโน้มสูงกว่านี้
ทอมมี อู๋ นักเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อัตราการว่างงานที่ได้จากการสำรวจประเมินความตึงเครียดในตลาดแรงงานต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมาตรวัดไม่รวม (ว่าที่) แรงงานย้ายถิ่นตกงานจำนวนมหาศาล
ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมเติบโตตามคาดในเดือน มิ.ย. 4.8% จาก 4.4% ในเดือน พ.ค.
หลิว อ้ายหัว โฆษกเอ็นบีเอส แถลงว่า เศรษฐกิจจีนบ่งบอกถึงแรงส่งของการกลับมาเติบโตและค่อยๆ ฟื้นตัว แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเล่นงานคู่ค้าหลักในหลายๆ ประเทศ การฟื้นตัวของจีนยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน
หลายสำนักประเมินว่า จีนจะเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เติบโตในปีนี้ เพราะเป็นประเทศแรกที่ถูกไวรัสเล่นงานแล้วฟื้นตัวกลับมาได้ในภายหลัง
กระนั้น เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไม่วายเตือนว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของทางการจีนควรฟังหูไว้หู ด้วยความสงสัยกันมานานแล้วว่าพรรคคอมมิวนิสต์อาจตกแต่งข้อมูลด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคว่าได้สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลอื่นที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว อาทิ ตัวเลขการค้าเดือน มิ.ย. ชี้ว่าการนำเข้าส่งออกในสกุลเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น กิจกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.
โปฉวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกจีนจากบริษัททีเอสลอมบาร์ด กล่าวก่อนจีนเผยตัวเลขไตรมาส 2 ว่า การส่งออกจีนกำลังครองส่วนแบ่งตลาดขนานใหญ่ในช่วงที่ส่วนอื่นของโลกถูกล็อกดาวน์ และจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ค่อนข้างก่อนประเทศอื่นๆ
ฉวงเผยกับซีเอ็นบีซี คาดว่าจีดีพีจีนจะฟื้นตัวต่อเนื่องไปอีก 2 ไตรมาสเป็นอย่างน้อย เศรษฐกิจภายในประเทศดูกำลังไปได้ “สวย” จากการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐาน และผู้คนเดินทางข้ามมณฑลได้อีกครั้งหนึ่ง เขามองว่าอีก 2 ไตรมาสเศรษฐกิจจีนจะโตราว 5%
"เศรษฐกิจ" - Google News
July 17, 2020 at 09:15AM
https://ift.tt/3fPP97L
'เศรษฐกิจจีน' ไตรมาส 2 ฟื้นเหนือคาดหมาย - กรุงเทพธุรกิจ
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL
No comments:
Post a Comment