คอลัมน์ มังกรพระพือปีก
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,588 หน้า 5 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม 2563
โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ในระหว่างการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress) และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference) ที่โดนพิษโควิด-19 และเลื่อนมาประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจในหลายส่วน อาทิ รายงานสภาพเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 การไม่ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป้าหมาย ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน การให้ความสำคัญกับการจ้างงาน และการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยหยิบเศรษฐกิจหาบเร่แผงลอยว่าจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในปีนี้
ต่อมาก็มีภาพข่าวการลงพื้นที่ตรวจงานและเยี่ยมเยียนประชาชน รวมทั้งการสำรวจสตรีทฟู้ดและหาบเร่แผงลอย ณ เมืองเอียนไถ มณฑลซานตงของท่าน หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา สิ่งที่อาจดูไม่สลักสำคัญอะไรนัก กลับกลายร่างเป็นนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิด-19 ในชั่วข้ามคืน
ท่านหลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยเป็นเศรษฐกิจฐานรากและมีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับของกิจการขนาดใหญ่ รัฐบาลจีนจะยกระดับหาบเร่แผงลอยและกิจการขนาดจิ๋ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19
คำถามสำคัญก็คือ วิกฤติโคโรนาไวรัสทำให้เศรษฐกิจจีนเป็นเช่นไร รุนแรงและซับซ้อนเพียงใด หลายคนอาจคิดเลยไปถึงความท้าทายรอบใหม่ของจีน อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ตํ่าสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานที่สูงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความเหลื่อมลํ้าทางสังคมที่ถ่างกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะเดียวกัน จีนก็ยังมีความท้าทายใหญ่ที่ต้องการขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นจากประเทศภายในปีนี้รออยู่อีกด้วย
ควันหลงของโควิด-19 ความท้าทายใหญ่ที่รอการปะทุ
ประการแรก เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ท่าน หลี่ เค่อเฉียง ออกมายอมรับด้วยตนเองว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้คงไม่สามารถเติบโตในอัตรา 6% ตามเป้าหมายเดิมที่เคยตั้งเอาไว้ได้ แนวทางและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในยุคหลังโควิด-19
ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ในช่วงต้นปีนี้ กิจการขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมากต่างทยอยปิดตัวลง ทำให้ชาวจีนนับสิบล้านคนต้องตกงาน บ้างก็บอกว่าหากนับรวมแรงงานอพยพจากนอกพื้นที่ด้วยแล้ว ตัวเลขคนว่างงานอาจสูง 26 ล้านคน ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงานที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งนับแต่เปิดประเทศ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า อัตราการว่างงานในชุมชนเมืองของจีนเพิ่มขึ้นจาก 5.3% ในเดือนมกราคมเป็น 6.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้ว่ารัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราดังกล่าวให้อยู่ที่ระดับ 6% แต่นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจพุ่งแตะระดับ 20% ในปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้คนในวัยทำงานของจีนพยายามมองหาลู่ทางทำกินใหม่ ซึ่งสิ่งที่ง่าย รวดเร็ว และใช้เงินทุนน้อย ก็ได้แก่ การขายสินค้าและบริการแบบหาบเร่แผงลอย
ในสถานการณ์ทั่วไป สภาพสังคมเมืองก็มีหาบเร่แผงลอยและร้านค้าขนาดจิ๋วกระจายตัวอยู่ ซึ่งเกี่ยวโยงกับแรงงานที่มีรายได้น้อย และคนที่โยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทมาสู่ในเมือง จากสถิติพบว่า จีนมีผู้ประกอบการเหล่านี้อยู่ราว 230 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 30% ของแรงงานโดยรวมของจีน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างผิดกฎหมาย และไม่อยู่ในระบบภาษี
ขณะเดียวกัน คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถพัฒนาตัวเองเข้าสู่อาคารสูงและห้างสรรพสินค้าในเมืองใหญ่ได้ ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่การปรับตัวเชิงพฤติกรรมในสังคมเมือง แต่ไปอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจและการปรับธุรกิจให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด กิจการขนาดจิ๋วเหล่านี้มีรายได้จำกัด ไม่สามารถแบกรับค่าเช่าที่สูงลิบลิ่วในเมืองใหญ่ได้ และอาจไม่มีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ
แต่ผลจากวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้เราสังเกตเห็นภาพผู้ประกอบการรายย่อยนำเอาสินค้าสารพัดชนิดทั้งใหม่และเก่า ออกมาจำหน่ายในแบบหาบเร่แผงลอยตามชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ตั้งโต๊ะขายบ้าง แบกะดินบ้าง หรือเปิดท้ายขายบ้าง บางรายยังมีลูกเล่นด้วยการเอารถหรูมาวางขายสินค้าแฟชั่นมือสอง
การเข้มงวดกับการจัดระเบียบพื้นที่ที่รับผิดชอบ อาจสร้างความไม่พอใจแก่ผู้ประกอบการที่มีรายได้น้อยเหล่านี้และอยู่ในช่วงขัดสนได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชน คนรวยและคนจน และมิติอื่นจากปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถ่างกว้างขึ้นในระยะหลังได้
อีกโจทย์หนึ่งของหาบเร่แผงลอยและร้านขนาดจิ๋วก็คือ ภาพลักษณ์เชิงลบ เพราะพอมีคนเอ่ยถึงตลาดยามราตรี ผู้คนก็จะนึกถึง “ความไม่สะอาด” และ “ความไม่ศิวิไลซ์” ขณะที่สินค้าที่มีคุณภาพตํ่า เครื่องประดับปลอม เสื้อผ้าราคาถูก และขนมขบเคี้ยวรสก็จะลอยขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ เลย
เพื่อมิให้ภาพลักษณ์เดิมๆ ดังกล่าวกลับมา รัฐบาลท้องถิ่นจึงต้องเร่งจัดระเบียบการออกแบบตกแต่ง ในเมืองใหญ่ รูปแบบการนำเสนอสินค้าในรถเข็น หรือวางบนผ้าผืนแทบหายไปสิ้น รัฐบาลท้องถิ่นยังให้ความสำคัญกับด้านสุขอนามัย โดยกำหนดสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายต้องมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร
ขณะเดียวกัน การจะนำเอาสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมที่มีราคาสูงมาวางจำหน่ายข้างถนน อาจไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของแบรนด์ปรารถนา ดังนั้น รัฐบาลท้องถิ่นจึงต้องทำงานร่วมมือกับเจ้าของห้างสรรพสินค้าและหาบเร่แผงลอยอย่างสร้างสรรค์ ห้างฯ ได้รับอนุญาตให้ขยายเวลาเปิดให้บริการ และพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าออกมาด้านนอก เพื่อให้เชื่อมต่อพื้นที่ของห้างฯ เข้ากับพื้นที่หาบเร่แผงลอย ทั้งสองส่วนจะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมพิเศษและแคมเปญการตลาดในการช่วยดึงคนเข้ามาในพื้นที่ ขณะเดียวกัน หาบเร่แผงลอยก็ได้รับประโยชน์จากแสงสว่าง ที่จอดรถ ห้องนํ้า และอื่นๆ ของห้างฯ
นอกจากนี้ เรื่องใหญ่ที่ไม่ควรลืมก็คือ ภายหลังการช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ช่วยให้คนจีนราว 900 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจนในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือเฉลี่ยกว่า 20 ล้านคนต่อปี พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนยังมีเป้าหมายใหญ่ในการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดินจีนในปีนี้ จากสถิติของรัฐบาลระบุว่า จีนมีคนที่มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นแบ่งความยากจนในปี 2020 เหลืออยู่อีกกว่า 10 ล้านคน
หากมองจากความสามารถในการแก้ไขปัญหาความยากจนในปัจจุบันก็อาจเห็นว่า ตัวเลขคนยากจนตกค้างดังกล่าวไม่เหนือบ่ากว่าแรงรัฐบาลจีน แต่การมาเยือนของโควิด-19 กลายเป็นแรงกดทับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนอีกชั้นหนึ่ง ปัญหาความยากจนดังกล่าวจึงใหญ่และสลับซับซ้อนกว่าเดิมมาก
"เศรษฐกิจ" - Google News
July 02, 2020 at 11:05AM
https://ift.tt/3glKDgK
เมื่อหาบเร่แผงลอย กลายเป็นกลไก พลิกฟื้นเศรษฐกิจจีน (1) - ฐานเศรษฐกิจ
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL
No comments:
Post a Comment