21 มิถุนายน 2563
151
การพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงปักกิ่ง ทำให้ภาพของธุรกิจส่วนใหญ่ในกรุงปักกิ่งที่เริ่มกลับมาดำเนินงานใหม่ ต้องหยุดชะงักลง และทำให้ปักกิ่งภาวะไม่ปกติ ขณะที่ผู้บริโภคต้องชะลอการใช้จ่าย ทั้งๆ ที่จีนหวังพึ่งเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ธุรกิจส่วนใหญ่ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนเพิ่งเริ่มกลับมาดำเนินงานใหม่ แต่จู่ๆ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ก็ผุดขึ้นมาเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจจีนในอนาคต
บรูซ ผาง หัวหน้าฝ่ายวิจัยมหภาคและยุทธศาสตร์ของสถาบันไชน่าเรเนซองส์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจำนวนมากบ่งชี้ว่า กิจกรรมทางธุรกิจในประเทศจีนกำลังฟื้นตัว แต่ความเป็นไปได้ว่าโควิด-19 ระบาดระลอก 2 อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
กรุงปักกิ่งไม่พบผู้ติดเชื้อในชุมชนนานกว่า 50 วัน กระทั่งในวันพฤหัสบดี (11 มิ.ย.) ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อใหม่หนึ่งราย จากนั้นก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตามรอยโรคไปพบว่า คลัสเตอร์นี้มีต้นตอมาจาก “ซินฟาตี้” ตลาดค้าส่งใหญ่ ตั้งอยู่ชานเมืองห่างออกไปราว 14 กม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ศูนย์กลางของกรุงปักกิ่ง
แดน หวาง วิเคราะห์ในรายงานของดิอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ว่า เนื่องจากซินฟาตี้เป็นตลาดสินค้าเกษตรใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีน เมื่อสั่งปิดตลาดทำให้ผลิตผลการเกษตรเหลือค้างและกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร
“ความตื่นตระหนกที่โควิด-19 กลับมา อาจชะลอการเปิดเมืองอื่นๆ ทำลายความเชื่อมั่นผู้บริโภค และหนุนให้การว่างงานมากขึ้นไปอีก” หวางกล่าว
ทั้งนี้ อีไอยู เผยแพร่รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อน คาดการณ์ไว้ว่า จีนจะมีอัตราการว่างงาน 10% และยอดค้าปลีกจะหดตัว 8% ในปี 2563
เศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกหดตัว 6.8% ในไตรมาสแรก ในช่วงที่การระบาดพุ่งสูง โควิด-19 พบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากนั้นแพร่ไปทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 440,000 ราย
การระบาดทรงตัวเมื่อกลางเดือน มี.ค. รัฐบาลกลางเห็นว่าภายในปลายเดือน พ.ค. ก็ปลอดภัยพอจะจัดการประชุมสมัชชาประชาชนจีน ที่เลื่อนจากกำหนดเดิมในเดือน มี.ค.ได้
การที่ผู้แทนหลายพันคนมารวมตัวกันมีนัยว่า การเดินทางเข้าออกทำธุรกิจในกรุงปักกิ่งทำได้โดยไร้อุปสรรค นักเรียนกลับมาเปิดเทอมได้และกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ อย่างการแข่งขันกีฬาจะทยอยกลับเป็นปกติในไม่ช้า
แต่การพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงปักกิ่งทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักลง ในเวลาที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในเดือน พ.ค. ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (15 มิ.ย.) แสดงยอดค้าปลีกลดลง 2.8% จากปีก่อน และผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็น่าผิดหวัง
เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนผู้บริหารระดับสูงของกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า ปักกิ่งได้เข้าสู่ “ภาวะไม่ปกติ” และได้เริ่มทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กับผู้คนนับหมื่นที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กับตลาดซินฟาตี้
พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 บางมาตรการกลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ทางการใช้วิธีปิดสถานที่บางแห่งไม่ได้ปิดทั้งเมือง เช่น ปิดโรงยิม ตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายกับผู้เดินทางเข้าออกสถานที่ต่างๆ แน่นอนว่ามาตรการเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรุงปักกิ่งอีกครั้ง
สื่อทางการจีน รายงานว่า อย่างน้อยๆมี 29 เมืองในจีน ประกาศมาตรการกักตัวผู้เดินทางที่มาจากกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตที่มีความเสี่ยงสูงในปักกิ่ง
การกลับมาใหม่ของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคต้องชะลอการใช้จ่าย ทั้งๆ ที่จีนหวังพึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศให้เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
หลักฐานที่บ่งชี้ว่า “การบริโภคอยู่ในระดับต่ำ” เห็นได้จากบริษัทที่ปรึกษาโอลิเวียร์ วายแมน คาดการณ์ว่า ตลาดสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในจีน ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่า 3.7 แสนล้านดอลลาร์ จะสูญรายได้ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีรายได้น้อยเลือกซื้อสินค้าราคาถูกลงและซื้อน้อยลง
ในการขับเคลื่อนการบริโภค แต่ละพื้นที่ของจีนได้นำมาตรการต่างๆ มาใช้กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย อย่างเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ปักกิ่งประกาศให้บัตรกำนัลมูลค่ารวม 1.22 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.74 พันล้านดอลลาร์) ผ่านแอพพลิเคชันเจดีดอทคอมเพื่อใช้ชอปปิงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า จะกระทบต่อการจับจ่ายซื้อสินค้ามากน้อยแค่ไหน และหลายๆ เมืองก็ทำตามปักกิ่ง
ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ยอดค้าปลีกของปักกิ่งลดลง 21.5% ลดมากกว่ายอดขายทั้งประเทศที่ลดลง 19% ส่วนเซี่ยงไฮ้ลด 20.4%
เซี่ยงไฮ้นั้นได้จัดโปรโมชันส่งเสริมการช้อปปิ้งเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ด้วยการแจกคูปองมูลค่ารวมมากกว่า 2 หมื่นล้านหยวน ระหว่างวันที่ 1 - 10 พ.ค. โปรโมชันนี้ดันยอดขายร้านค้าจริงถึง 4.82 หมื่นล้านหยวน เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทำยอดขายทางออนไลน์ได้มากกว่า 4 หมื่นล้านหยวน
อย่างไรก็ตาม คนจีนทุกวันนี้ยินดีใช้จ่ายมากกว่าคนรุ่นก่อน ซินกัง ผู้ก่อตั้งสถาบันยุทธศาสตร์เมืองยาซง คาดว่า แนวโน้มการบริโภคของจีนในระยะยาวจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยววัฒนธรรม การศึกษา ดูแลสุขภาพ และที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยเกษียณชาวจีนมักทุ่มไม่อั้น
"เศรษฐกิจ" - Google News
June 21, 2020 at 11:07AM
https://ift.tt/2Yk9Hin
'โควิดปักกิ่ง' ความท้าทายใหม่ 'เศรษฐกิจจีน' - กรุงเทพธุรกิจ
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL
No comments:
Post a Comment