แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ “เปิดช่องหายใจ” ให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งจะหนุนช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่ดำดิ่งจนเกินไป อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวน่าจะต้องใช้เวลา เพราะเอฟเฟ็กต์จากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เต็ม 100%
โดย “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือน มิ.ย. 2563 พบว่า นักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว หลังการปลดล็อกเศรษฐกิจทำได้เร็วกว่าที่คาดเอาไว้ อีกทั้งยังไม่มีความเสี่ยงผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างในหลายประเทศ
ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันยังอ่อนค่าสุดในภูมิภาคที่ 6% สอดคล้องกับพื้นฐานของประเทศไทยที่พึ่งพิงกับการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ค. ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า 2% และยังแข็งค่าต่อเนื่องถึงปัจจุบัน จากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้ามาในประเทศ รวมถึงการค้าขายทองคำที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว
“ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ การควบคุมการระบาดของโควิดในช่วงการผ่อนคลายให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้า ผลของมาตรการการเงินการคลัง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน”
“ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะหดตัว -6% จากเดิมคาดว่าแค่ -5% เนื่องจากตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ หดตัวเกือบทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าไตรมาส 1 เศรษฐกิจจะหดตัวน้อยกว่าคาด แต่ในไตรมาส 2 จะหดตัวลึกที่สุดเป็นเลข 2 หลัก และในไตรมาส 3-4 จะติดลบน้อยลง เป็นผลจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่ก็จะยังไม่เห็นเศรษฐกิจเป็นบวก
ทั้งนี้ การส่งออกทั้งปีคาดว่าจะหดตัว-6.1% จากเดิมคาด -5% โดยบางช่วงอาจเห็นติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักได้เนื่องจากปัญหาซัพพลายเชนที่ขาดตอน จากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยลดล’ แม้ว่าการส่งออกในไตรมาสแรกจะยังเป็นบวก 1.19% แต่เป็นผลมาจากการส่งออกทองคำ ที่ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 มูลค่าส่งออกทองคำอยู่ที่ 6,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบเท่ากับปี 2562 ทั้งปีที่มีมูลค่าที่ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านการลงทุนภาคเอกชนน่าจะหดตัวมากขึ้น สะท้อนผ่านกำลังการผลิตที่เหลือมากกว่า 55% ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอการตัดสินใจการลงทุน ทั้งในส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ พลังงาน ซึ่งมีผลกระทบในระยะข้างหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนทั้งปีน่าจะ -6.6%
“มุมมองจีดีพีจะ -6% มาจากปัจจัยถดถอยของการบริโภคภาคครัวเรือนที่ติดลบมากขึ้น โดยทั้งปีการบริโภคเอกชนจะหดตัว -2.3% และการลงทุนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ และเป็นตัวที่ทำให้การบริโภคไม่หดตัวลึกกว่าที่คาด โดยมาตรกาiทางการคลังเป็นเครื่องมือหลักในการพยุงเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมกว่า 31.55 ล้านคน”
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามว่า หลังจากมาตรการเยียวยาหมดลงในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ทั้งในกลุ่มประกันสังคมและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นระดับล้านคนต่อเดือนเนื่องจากหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ การจ้างงานคงไม่กลับมาเป็นปกติเพราะยังต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะในภาคบริการ ทำให้ยังมีคนว่างงานค้างอยู่ในระบบ จึงเป็นปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไขต่อไป
สำหรับนโยบายการเงินในช่วงหลังจากนี้ “ณัฐพร” มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเช่นเดียวกับธนาคารกลางอีกหลาย ๆ ประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่จำเป็น เนื่องจากนโยบายการคลังยังขับเคลื่อนได้
“จากนี้คงเป็นภาพที่ดอกเบี้ยต่ำล้อไปกับเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจคงไม่ฟื้นเร็ว เนื่องจากเรายังต้องอยู่กับโรคระบาด ต้องรอวัคซีน การจะให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนก่อนช่วงที่มีโควิด คงต้องรอไปอีก 2-3 ปี”
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอยู่ แต่ระหว่างทางจะผันผวนตามปัจจัยแวดล้อมที่ไม่แน่นอน โดยสิ้นปีคาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์
“ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าภูมิภาค เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่มีประเด็นเรื่องของสงครามการค้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศและต่างประเทศของสหรัฐ รวมถึงการส่งออกที่ยังเป็นบวก ส่งผลให้มีเงินไหลกลับเข้ามา ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่โดยรวมแล้ว เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดี ทั้งการควบคุมโรค และดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะกลับมาเป็นบวก ทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้อีก” นางสาวณัฐพรกล่าว
ผลจากล็อกดาวน์ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลึกกว่าคาด สิ่งที่ตามมาคือ มีคนตกงานมากขึ้น ดังนั้นการเปิดช่องให้ธุรกิจได้หายใจ ก็น่าจะช่วยรักษาการจ้างงานได้ส่วนหนึ่งด้วย
"เศรษฐกิจ" - Google News
June 05, 2020 at 03:22PM
https://ift.tt/2Y0pWj2
เศรษฐกิจไทยส่อหดตัว 6% เตือนรับมือ "ว่างงาน" ทะลุล้านคนต่อเดือน - ประชาชาติธุรกิจ
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL
No comments:
Post a Comment