Pages

Tuesday, June 2, 2020

ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุ - โพสต์ทูเดย์

kuyupkali.blogspot.com

ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุ

วันที่ 02 มิ.ย. 2563 เวลา 06:47 น.

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูลคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

ในวันที่รัฐบาลประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายใหม่ที่สูงเกือบสองร้อยคนในวันเดียวช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เชื่อว่า หลายคนคงรู้สึกเหมือนผม คือ กลัว ยิ่งในช่วงนั้นที่บางประเทศ เช่น อิตาลี มีการระบาดจากคนไม่กี่สิบคนไปเป็นหมื่นคน และมีคนตายหลายพันคนภายในเวลาไม่กี่สิบวัน และในช่วงนั้น ประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศในโลกก็ต้องดำเนินมาตรการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเอาไว้ก่อนเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด จากวันที่ผมเขียนบทความนี้ย้อนไปเกือบสามเดือนถึงวันนั้นก็กล่าวได้ว่า ประเทศไทยเราโชคดีมากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้ขยายจากร้อยคนเป็นพันเป็นหมื่นคนอย่างในบางประเทศ แต่กลับลดลงเรื่อย ๆ จนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลายใหม่เป็นหลักหน่วยเท่านั้น และมีผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลไม่ถึงหนึ่งร้อยคน

แน่นอนครับว่า ผลสำเร็จที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่งในเชิงการแพทย์นี้ คงต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง การระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเอาไว้เป็นเดือน ๆ ย่อมต้องสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โรคโควิด-19 นี้จะว่าไปก็เหมือนเป็นโรคที่อุบัติขึ้นมาเพื่อสร้างปัญหากับผู้สูงอายุเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการแพทย์ที่อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อสูงขึ้นตามอายุของผู้ติดเชื้อ หรือในเชิงเศรษฐกิจที่มาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือนโยบายทางการเงินการคลังที่มุ่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งดูเหมือนว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบเชิงลบที่รุนแรงกว่า หรือเป็นผู้ที่การช่วยเหลือจากภาครัฐเข้าถึงได้ค่อนข้างยากกว่ากลุ่มอื่น ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุที่แน่ชัดจะเป็นอย่างไรนั้นคงเป็นประเด็นการวิจัยที่น่าสนใจที่คงได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบอีกครั้งภายหลังโควิด-19 คลายการระบาดลง แต่จากการวิเคราะห์โดยคร่าว ๆ แล้ว ปัจจัยที่มีส่วนที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องแบกรับภาระในเชิงเศรษฐกิจที่หนักกว่ากลุ่มอื่นมีอยู่ด้วยกันดังนี้ ครับ

1. ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer literacy) ที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น ปัจจัยที่อธิบายความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่งก็คืออายุครับ และจากงานวิจัยบางชิ้นปัจจัยด้านอายุนี้เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ เช่น รายได้ หรือพื้นฐานทางครอบครัวเสียด้วยซ้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นเด็ก ๆ สมัยนี้ แม้จะไม่ได้มาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีฐานะดีหรือมีการศึกษาสูง รู้จักการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การซื้อขายของทาง Lazada การสั่งอาหารผ่าน Grab หรือการรับหรือโอนเงินผ่านทางสมาร์ทโฟน ในทางกลับกัน หากไปสังเกตกลุ่มผู้ที่ยังคงทำธุรกรรมที่ธนาคารในแบบดั้งเดิม เราก็มักจะเห็นผู้สูงอายุที่มีฐานะถอนหรือฝากเงินสดเป็นปึก ๆ กับพนักงานธนาคาร ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนี้แหละครับที่เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าในช่วงเวลาที่รัฐบาลมีมาตรการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ใครจะยังพอค้าขายต่อไปได้ อย่างในช่วงเดือนเมษายนที่รัฐบาลมีมาตรการค่อนข้างเข้มงวด ร้านค้าที่ยังขายได้ก็มีแค่ร้านค้าที่รู้จักค้าขายออนไลน์เท่านั้น ผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพค้าขายที่ไม่รู้หรือไม่มีลูกหลานที่รู้วิธีการค้าขายออนไลน์ย่อมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลักจากมาตรการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ความไม่รู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีผลเชิงลบในแง่การประกอบอาชีพเท่านั้นนะครับ แต่ยังเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐอีกด้วย เช่น การกำหนดให้ผู้ขอรับการช่วยเหลือต้องลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งเป็นทราบกันดีว่าผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร หรือไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอที่จะเข้าถึงการลงทะเบียนใด ๆ ได้ ก็ต้องตกหล่นจากการช่วยเหลือของรัฐไป แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มเปราะบางลำดับต้น ๆ ที่รัฐควรเร่งให้ความช่วยเหลือก่อนกลุ่มอื่น ๆ ก็ตาม นอกจากนี้ การหวนกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายหลังการผ่อนคลายมาตรการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การต้องรับหรือทอนเงินสดก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของกลุ่มผู้สูงอายุให้มากกว่ากลุ่มอื่นได้เช่นกันครับ

2. ความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้างที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ปัญหาการถูกเลิกจ้างอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานแล้วโดยตรง แต่เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อายุประมาณ 55-60 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อที่กำลังจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้สูงอายุ ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงมักเห็นแนวนโยบายของบริษัทใหญ่ ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินขนาดใหญ่หลายแห่งที่เริ่มขอให้พนักงานที่มีอายุค่อนข้างมากเลือกเกษียณอายุโดยความสมัครใจเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัท เป็นที่โชคร้ายครับที่ความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้างของคนกลุ่มนี้ที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ดูเหมือนจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับโอกาสในการหางานใหม่ของคนกลุ่มนี้ที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่น และหากไม่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพภายหลังยุคโควิด-19 อย่างเพียงพอแล้ว โอกาสที่จะหาทางประกอบอาชีพใหม่โดยการเริ่มสร้างกิจการของตนเองให้ประสบความสำเร็จเพียงพอต่อการเป็นรายได้เลี้ยงตัวได้ก็เหมือนจะค่อนข้างน้อยเช่นกัน

3. ผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เราก็หาเงินให้ได้มากในช่วงหนุ่มสาวและก็เก็บเอาไว้ใช้ในยามชรากันทั้งนั้น โดยเงินที่เก็บเอาไว้ใช้ในยามชราจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่นั้น ปัจจัยที่สำคัญก็คือเงินต้นกับอัตราดอกเบี้ยครับ จากความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รัฐบาลและธนาคารกลางในหลายประเทศก็ถูกบังคับให้ต้องใช้มาตรการทางการคลังและการเงินในระดับที่ไม่เคยใช้มาก่อนเช่นกัน ทั้งการใช้นโยบายขาดดุลมหาศาลที่เร่งเพิ่มรายจ่ายของรัฐและลดภาษี และการลดอัตราดอกเบี้ยจนในประเทศไทยอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อยู่ในจุดที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์

คงปฏิเสธไม่ได้ครับว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจนเกือบเข้าใกล้ศูนย์แม้อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ตั้งใจจะฝากเงินเอาไว้เพื่อเอาดอกผลมาใช้แล้วคงเป็นฝันร้ายที่กระหน่ำซ้ำเติมเข้าไปอีก จะให้เอาเงินไปลงทุนในช่องทางอื่นเช่นในตลาดทุนก็ผู้สูงอายุหลายคนคงไม่คุ้นเคยก็คงเป็นไปได้ยาก เรื่องนี้จะไปโทษคณะกรรมการการเงินก็คงไม่ได้หรอกครับเพราะท่านคงได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียทั้งหมดในภาพรวมแล้ว แต่รัฐบาลก็คงต้องพิจารณาหามาตรการบรรเทาผลกระทบเชิงลบของนโยบายนี้ต่อผู้สูงอายุที่มีรายได้บางส่วนมาจากดอกเบี้ยเงินฝากกันต่อไป อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คงเป็นผลกระทบของนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำที่มีต่อแรงจูงใจในการออมด้วยครับ เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายกังวลว่าคนไทยออมน้อยจนไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในยามจำเป็น ซึ่งคงต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าแรงจูงใจในการออมนั้นมากน้อยเพียงใด

ทั้งหมดนี้คงเป็นประเด็นคร่าว ๆ ที่น่าเอาไปคิดครับ ไทยเรารับมือกับโควิด-19 ได้ดีมากในเชิงการแพทย์จนเป็นที่ชื่นชมของนานาชาติแล้ว ถ้าเรามีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางอย่างกลุ่มผู้สูงอายุได้อีกด้วยก็จะยิ่งเป็นที่น่ายินดีครับ

Let's block ads! (Why?)



"เศรษฐกิจ" - Google News
June 02, 2020 at 06:51AM
https://ift.tt/2MgRFXo

ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อผู้สูงอายุ - โพสต์ทูเดย์
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL

No comments:

Post a Comment