"มหาวิทยาลัยหาดใหญ่" เผยผลสำรวจประชาชนในภาคใต้ "เสนอ 11 มาตรการ" ให้รัฐบาลฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด เชื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นหลังคุมโรคระบาดได้ดี
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 63 ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2563 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2563
ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน และความสุขในการดำเนินชีวิต
โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่น คือ การคลายล็อคให้กับธุรกิจบางประเภทให้สามารถดำเนินการได้ และมาตรการจากภาครัฐในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ มาตรการเยียวยาแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบสังคม การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการต่าง ๆ มาตรการด้านภาษี มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เป็นต้น
โดยประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่า มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ เป็นสิ่งที่ดีและครอบคลุมถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแทบทุกภาคส่วน แต่การช่วยเหลือบางกลุ่ม ยังมีความล่าช้ามาก อันเนื่องมาจากระบบการคัดกรองเกิดความผิดพลาด เป็นเพราะประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการกรอกข้อมูล รวมถึงบางคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน ที่ยังคงลดลง คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นผลจากการสั่งปิดกิจการชั่วคราวหลายประเภท และทำการ ปลดล็อคแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มที่
เพราะภาครัฐเกรงว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกลับมาเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่ง ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ พนักงาน และลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน มองว่าการเยียวยาวของภาครัฐไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน อีกทั้ง ผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง กล่าวว่าหากไม่สามารถเปิดได้ในเร็ว ๆ นี้ กิจการจำนวนไม่น้อย อาจจะต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีทุนสำรองเพียงพอ
ในขณะที่ธุรกิจหลายภาคส่วน ที่ได้รับการปลดล็อคจากภาครัฐ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนแทบทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป และไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก
ทั้งนี้กิจการต่าง ๆ พร้อมให้บริการ และสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ให้เกิดความสบายใจ ด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ตามข้อปฏิบัติที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ อาทิ การวัดอุณหภูมิลูกค้าก่อนเข้าร้าน จำกัดจำนวนคนในร้าน จัดพื้นที่ยืนรอคิว โดยเว้นระยะห่าง 1 เมตร จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์บริการ พนักงานและผู้ที่เข้ามาใช้บริการทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือ Face Shield เป็นต้น
แต่จากผลประกอบการเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผู้ประกอบการและพนักงานขายส่วนหนึ่งกล่าวว่า ผู้ซื้อมีจำนวนน้อยลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนที่จะเกิดโควิด-19 เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ยังมีความกังวลในการติดเชื้อโควิด-19 จึงลดการเดินทางไปในที่มีคนพลุกพล่าน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
อีกทั้งผู้บริโภคส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไป โดยหันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากขึ้น เพราะเคยชินกับความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทาง ไม่เสียเวลา อีกทั้ง ราคาสินค้าในออนไลน์หลายอย่างถูกกว่าร้านค้าปลีก
นอกจากนี้ ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตที่สุดเท่าที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย หนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปีพ.ศ.2540 และเหตุการณ์ สึนามิ ในปีพ.ศ.2547 หลายสิบเท่า
อย่างไรก็ตามในวิกฤตก็เป็นโอกาสที่ดีในการที่ได้เห็นภาครัฐออกมาตรการให้การช่วยเหลืออย่างจริงจัง และเป็นการช่วยเหลือแบบถึงมือของประชาชนจริง ๆ อีกทั้ง ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานสาธารณสุขของไทย ที่มุ่งมั่น ตั้งใจในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่
รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนหนึ่ง ทั้งในรูปแบบขององค์กร และบุคคลได้ให้ความช่วยเหลือ แบ่งปันน้ำใจ ทั้งการบริจาคเงินและสิ่งของให้กับสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงการบริจาคอาหาร สิ่งของที่จำเป็น และเงินสดให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มีความเดือดร้อน
ทำให้เกิดภาพความเอื้ออาทรต่อกันของคนไทย การเกิดโรงทานในหลายแห่ง การเกิดตู้ปันสุข ในชุมชนต่าง ๆ โดยประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งกล่าวว่า “อยากให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้ตลอดไป อยู่เมืองไทยไม่อดตาย”
จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ หลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้
1.การปรับตัวของธุรกิจในยุคโควิด-19 ยอดขายลดลงจำนวนมาก ทำให้กิจการจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ จึงจำเป็นจะต้องตัดทอนค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป หนึ่งในนั้นคือ การลดจำนวนพนักงาน ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ คนจะตกงาน จำนวนมาก
ทั้งนี้ จึงเสนอให้ภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือคนตกงาน โดยการสร้างงาน สร้างอาชีพให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ที่จะตกงานในอนาคต
2. ในการใช้วงเงินกู้ในส่วนที่สองจำนวน 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยเสนอแนะให้ใช้เงินอย่างระมัดระวัง และให้เงินทุกบาททุกสตางค์ เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างแท้จริง และควรแต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาชน ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นกรรมการในการลงนามเพื่อให้ความเห็นชอบ และตรวจสอบการใช้เงินในโครงการต่าง ๆ
3. จากการจ่ายเงินเยียวยาประชาชน ที่มีข้อผิดพลาด และล่าช้า อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญคือ ภาครัฐขาดฐานข้อมูลของประชาชน ที่ประกอบอาชีพอิสระที่อยู่นอกระบบ จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนทุกสาขาอาชีพของคนไทยทุกคน ในฐานข้อมูลบัตรประชาชน เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ภาครัฐจะได้มีข้อมูลในการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
4. ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน ที่ดูแลผลกระทบของเกษตรกร และมีเว็บไซต์หลายเว็บไซต์ ทำให้เกษตรกรเกิดความสับสนในการขอรับการช่วยเหลือ และติดตามข้อมูลความคืบหน้าการเยียวยาที่จะได้รับ จึงเสนอให้ภาครัฐควรจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นจุด one stop service โดยมีเว็บไซต์เดียว หรือเป็นแอปพลิเคชันเดียวในการดูแล ช่วยเหลือ และเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อลดความสับสนในการติดตามข้อมูลข่าวสาร และทำให้เกษตรกรสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วน
5. กลุ่ม OTOP ภาคใต้ ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพอื่น ๆ แต่ไม่ได้รับการเยียวยาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเดือนละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน จึงขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาและให้ความช่วยเหลือกลุ่ม OTOP ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลด้วย
6. จากมาตรการที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนมีระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดการติด โควิด-19 แต่ในทางปฏิบัติประชาชนจำนวนมาก ไม่ได้เว้นระยะห่างในการยืนเข้าคิวขณะรอรับการบริการต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่าเนื่องจากไม่มีการขีดเส้น จึงไม่สนใจ
จึงเสนอให้ภาครัฐดำเนินการให้พื้นที่ต่าง ๆ ที่มีคนมารวมกันเป็นจำนวนมาก ควรขีดเส้นเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประชาชนต้องยืนรอคิวเพื่อเข้าใช้บริการ อาทิ ทางเข้าและทางออกห้างสรรพสินค้า ธนาคาร โรงเรียน งานแสดงสินค้า ร้านขายอาหาร และตลาด เป็นต้น
7. การผ่อนปรน ให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง ทำให้มีการพบปะของผู้คนมากขึ้น ซึ่งคนจำนวนหนึ่งจะไม่สนใจกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มีการปฏิสัมพันธ์และใกล้ชิดกันมากขึ้น
ซึ่งประชาชนมีความกังวลว่าโควิด-19 อาจกลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันและดูแลกิจการที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดให้ชัดเจน และจริงจัง
8. การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ ในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีมาก รวมถึงการมีระบบสุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จึงเสนอแนะให้ภาครัฐให้การส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านการแพทย์ และมีความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
ซึ่งเป็นการสร้างจุดเด่น ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในประเทศไทยมากขึ้น
9. จากการบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยนักวิชาการส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่า เมื่อประเทศไทย เปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
จึงเสนอแนะให้ภาครัฐ ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดทำโครงการขนาดใหญ่ในเมืองรอง เพื่อรองรับการเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในอนาคต โดยการกำหนดนโยบายเพื่อจูงใจนักลงทุนไทย ให้หันมาลงทุนในประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวและเติบโตยิ่งขึ้น เช่น การให้ลงทุนทำสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ในเมืองรอง
โดยภาครัฐ จะต้องให้การช่วยเหลือ เช่น ปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยกเว้นภาษีให้ในระยะเวลา 5-10 ปี เป็นต้น
10. การกำหนดนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเบื้องต้น เช่น การสนับสนุนการท่องเที่ยวของคนไทยให้ท่องเที่ยวในประเทศ ลักษณะเดียวกับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้ เช่น การแจกเงินให้ประชาชนท่องเที่ยวจังหวัดละ 1,000 บาท ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นต้น เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
11. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทหารได้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของประชาชน โดยประชาชนส่วนหนึ่งได้เสนอให้เกิด New Normal สำหรับกองทัพ คือ ให้กองทัพปรับวิถีใหม่ โดยในสถานการณ์ปกติทหารไม่เพียงแต่ปกป้องประเทศไทย
แต่ให้ทหารส่วนหนึ่งทำหน้าที่ปกป้อง ดูแล และให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.80 และ 34.70 ตามลำดับ
ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.50 และ 33.70 ตามลำดับ
ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.40 32.80 และ 39.70 ตามลำดับ
ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่ มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 26.30 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 22.10 และ 15.20 ตามลำดับ
ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ
"เศรษฐกิจ" - Google News
June 01, 2020 at 08:27AM
https://ift.tt/2MmRLfT
เปิดผลสำรวจชาวใต้เสนอ 11มาตรการให้รัฐบาลฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด - โพสต์ทูเดย์
"เศรษฐกิจ" - Google News
https://ift.tt/3crAsVL
No comments:
Post a Comment